แก้งขี้พระร่วงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีเทาเรียบ หูใบรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๑ ชม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมโคนมนกว้างถึงเว้าเล็กน้อยและมักเบี้ยว ขอบส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบเป็นคลื่นหยักแหลมถึงมนห่าง มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบค่อนไปทางปลายใบข้างละ ๑-๒ เส้น เส้นใบย่อยบริเวณกลางใบเป็นแบบขั้นบันได ส่วนที่อยู่ข้าง ๆ จะโค้งเชื่อมต่อกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจะ แต่ละช่อมีดอกสมบูรณ์เพศปนตามโคนช่อ ช่อดอกมีขนและมักยาวกว่าก้านใบ ดอกสีนวล ดอกเพศผู้มักออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ยาวได้ถึง ๓ ซม. มี ๑๐-๒๐ ดอก กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. กลีบรวมมี ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูรูปไตช่อดอกเพศเมียออกจากช่อตามง่ามใบ ยาวได้ถึง ๓ ซม. มี ๔-๗ ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยก ๒ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม.
ช่อผลยาวได้ถึง ๕ ซม. ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่ กลมหรือเป็นสี่เหลี่ยม กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลม ไม่มีขน
แก้งขี้พระร่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบใกล้ลำธาร ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เนื้อไม้มีกลิ่นเฉพาะตัว.