หญ้าไข่แมงดาเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ส่วนใหญ่ของลำต้นเลื้อยทอดนอนและมีรากออกตามข้อ แขนงที่ออกช่อดอกตั้งตรง สูง ๒๐-๖๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๓.๕-๑๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบและผิวใบทั้ง ๒ ข้างมีขน ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเป็นขน กาบใบยาวประมาณ ๓ ซม. มีขนทั่วไป
ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่ง มีช่อแขนง ๓-๑๐ ช่อ แต่ละช่อยาวประมาณ ๕ ซม. เรียงสลับบนแกนกลางช่อดอก ช่อดอกย่อยรูปไข่กลับหรือรูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๒-๔ มม. กาบล่างรูปใบหอกแคบ ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเป็นรยางค์ยาวประมาณ ๕ มม. ค่อนข้างแข็งและเหนียว ขอบกาบและด้านหลังมีขน มีเส้นตามยาว ๓-๕ เส้น กาบบนรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายเป็นรยางค์ ยาวไม่เกิน ๑ มม. ด้านหลังมีขนและมีเส้นตามยาว ๗ เส้น มีดอกย่อย ๒ ดอก ดอกล่างไม่มีเพศ มีเพียงกาบ ๒ กาบ กาบล่างรูปไข่ ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลม มีเส้นตามยาว ๙ เส้น ด้านหลังมีขน กาบบนแคบกว่า ยาวประมาณ ๒ มม. บางใส เส้นตามยาว ๒ เส้น ดอกบนสมบูรณ์เพศ กาบล่างรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม เนื้อค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ มีเส้นตามยาว ๓ เส้น กาบบนคล้ายกาบล่าง ยาวประมาณ ๒ มม. มีเส้นตามยาว ๒ เส้น ขอบพับเข้า กลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู่สีขาว
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี ยาวไม่เกิน ๒ มม.
หญ้าไข่แมงดามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ใช้เป็นหญ้าอาหารสัตว์.