ขาวบูโด

Haniffia albiflora K. Larsen et J. Mood

ไม้ล้มลุกหลายปี มีลำต้นเทียม ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก มักออกจากโคนต้นใบประดับที่โคนช่อสีแดง ดอกสีขาว

ขาวบูโดเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าเรียวยาวทอดเลื้อย ลำต้นเทียมสูงได้ถึง ๗๐ ซม. ครึ่งล่างมีกาบที่ไม่มีแผ่นใบ ๓-๕ กาบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. มี ๑๐-๑๓ ใบ สีเขียวเข้ม อยู่ส่วนบนของลำต้นเทียม กาบใบเกลี้ยง ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มแคบ ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ลิ้นใบยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมนและมีขนยาวตรง ใต้ลิ้นใบมีขนเป็นกระจุก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๑-๒ ช่อ มักออกจากโคนต้น แกนกลางเล็ก เรียว เกลี้ยง ใบประดับที่โคนช่อสีแดง มี ๓-๕ ใบ ยาว ๐.๕-๒ ซม. ไม่มีดอก ใบประดับที่อยู่เหนือขึ้นมารูปใบหอก ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายแหลมมีดอกสีขาว ๒-๓ ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง ๕ ซม. ด้านหนึ่งแยกออก ปลายหยักซี่ฟัน ๓ ซี่ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ ๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกล่างรูปใบหอก ปลายแหลมยาวประมาณ ๒ ซม. บริเวณโคนกว้างที่สุด เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากสีขาว มีแถบสีเหลืองเป็นปื้นที่โคนกลีบ รูปไข่กลับหรือรูปลิ่ม กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเว้าตื้นหรือเว้าลึกเป็น ๒ หยัก มีขนต่อมสีขาว เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออีก ๒ เกสร คล้ายกลีบดอก รูปรี ปลายมน กว้างประมาณ ๐.๘ ซม. ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. มีขนต่อมทั้ง ๒ ด้าน เกสร เพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร มีขนต่อม ก้านชูอับเรณูกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. รยางค์อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี เกลี้ยง ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ต่อมที่โคนก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔ มม.

 ผล ยังไม่มีข้อมูล

 ขาวบูโดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขาวบูโด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Haniffia albiflora K. Larsen et J. Mood
ชื่อสกุล
Haniffia
คำระบุชนิด
albiflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai
- Mood, John Donald
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Larsen, Kai (1926-2012)
- Mood, John Donald (1945-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร