ตรีภูติเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางด้านข้าง รากสีขาวแกมสีน้ำตาลหรือสีขาวแกมสีเขียวออกเป็นกระจุกที่โคนหัวเทียม หัวเทียมขึ้นชิดกันเป็นกอตั้งขึ้นหรือเอียง สีเขียวแกมสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมสีน้ำตาล รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปไข่แกมรูปรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๙-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. ส่วนปลายเรียวแคบกว่าส่วนโคน ผิวย่นและเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวในฤดูแล้ง กาบใบมีลักษณะคล้ายเยื่อสีนวลแกมสีน้ำตาลอ่อนหุ้มตลอดหัวเทียม มักหลุดร่วงไปเมื่อแก่
ใบเดี่ยว มี ๒ ใบ ออกที่ปลายหัวเทียม เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๓-๔.๖ ซม. ปลายแหลมหรือเว้าบุ๋ม โคนสอบเรียวเป็นก้านสั้น ๆ ขอบเรียบ แผ่นใบบางและอ่อน ด้านบนสีเขียว อาจมีสีม่วงอ่อน ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ ทิ้งใบก่อนมีดอก
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่โคนหัวเทียม ตั้งอยู่ในแนวเอนเล็กน้อย ทั้งช่อยาว ๑๘-๒๕ ซม. แต่ละช่อมี ๖-๑๔ ดอก ก้านช่อดอกสีเขียวแกมสีม่วงแดง ยาว ๑๔-๑๘ ซม. มักอยู่ในแนวตั้ง แกนช่อสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีม่วง ยาว ๔-๖.๕ ซม. โค้งลงเกือบขนานกับก้านช่อ ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกันประมาณ ๑ มม. ใบประดับสีน้ำตาลแกมสีส้ม รูปรีแคบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยสีนวลแกมสีชมพูอ่อน รูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายเรียวแหลม ดอกสีเหลืองแกมสีส้มหรือสีส้ม มีจุดสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วทั้งดอก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเรียวแหลม ขอบจักซี่ฟันและมีรยางค์แข็ง ด้านในมีขนประปรายใกล้ปลายกลีบ กลีบข้างรูปแถบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓.๕-๓.๗ ซม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดขนาดเล็กมากคล้ายผง มีจำนวนมาก
ตรีภูติมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าสนผสมก่อ ป่าดิบเขาต่ำ และป่าเต็งรังผสมก่อ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว และเวียดนาม.