ตริด

Litsea myristicifolia (Wall. ex Nees) Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
กะทิตหนู (จันทบุรี); จามจุรีป่า (ตราด)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้น สีนวลหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนกิ่งย่อยที่ลดรูป เป็นกระจุกตามซอกใบ ตามกิ่ง หรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกอ่อนรูปทรงกลม คล้ายดอกเดี่ยว แต่ละช่อมีใบประดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก อับเรณูแตกแบบมีฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างกลม สีเขียว มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงอมแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ ฐานดอกรูปถ้วยขยายใหญ่หุ้มโคนผล ก้านผลหนา เมล็ดมี ๑ เมล็ด

ตริดเป็นไม้ต้น สูง ๖-๒๐ ม. กิ่งย่อยเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑๐ ซม. ยาว ๗.๕-๒๐ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๖ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น แบนทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๒.๘ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น สีนวลหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนกิ่งย่อยที่ลดรูปเป็นกระจุกตามซอกใบ ตามกิ่ง หรือตามปลายกิ่ง แต่ละกระจุกยาว ๑-๒.๕ ซม. ช่อดอกอ่อนรูปทรงกลม คล้ายดอกเดี่ยว เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๐.๕-๑ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๗-๒ ซม. เกลี้ยง แต่ละช่อดอกมีใบประดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก สีเขียวอ่อน รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กว้าง เว้าเข้าด้านใน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ ติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย ขนาดเกือบเท่ากัน บางคล้ายเยื่อ เกลี้ยง ช่อดอกเพศผู้มี ๕-๖ ดอก ดอกเพศผู้มีกลีบรวมรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม.


เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ เกสร เรียงเป็น ๓-๔ วง วงละ ๓ เกสร ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๒-๔ มม. เกลี้ยง โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรือไร้ต่อม อับเรณูยาว ๐.๘-๑.๕ มม. แตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียมี ๕-๗ ดอก ดอกเพศเมียมีกลีบรวมรูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๙ เกสร เรียงเป็น ๓ วง วงละ ๓ เกสร รูปแถบ ยาวไม่เท่ากัน ยาว ๑-๒ มม. เกลี้ยง โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรือไร้ต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างกลม

เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๒.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๓ ซม. สีเขียว มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงอมแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกลี้ยง ฐานดอกรูปถ้วยขยายใหญ่หุ้มโคนผล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. สูง ๐.๘-๑ ซม. เกลี้ยง ก้านผลหนา ยาว ๑-๒ ซม. เกลี้ยง มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ตริดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น มักพบตามเกาะ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตริด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Litsea myristicifolia (Wall. ex Nees) Hook. f.
ชื่อสกุล
Litsea
คำระบุชนิด
myristicifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel (1776-1858)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
กะทิตหนู (จันทบุรี); จามจุรีป่า (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย