งดเขาเป็นไม้เถา ลำต้นค่อนข้างใหญ่ เลื้อยเกาะตามต้นไม้
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ใบอ่อนรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ ใบแก่รูปขอบขนาน กว้าง ๒๕-๓๕ ซม. ยาว ๔๕-๖๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ ขอบเป็นแฉกแบบขนนก ลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ มีข้างละ ๗-๑๑ แฉก แฉกรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. มักมีเส้นแขนงใบกลางแฉก ๑ เส้น ส่วนแฉกที่อยู่ใกล้โคนใบอาจมี ๒-๔ เส้น แฉกที่ปลายสุดเป็นแฉกใหญ่ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ก้านใบยาว ๒๔-๔๐ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ยอด กาบสีขาวอมเขียวโอบหุ้มช่อคล้ายหลอด รูปรีหรือรูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม ไม่มีรอยคอด ต่อมากาบจะกางออกและร่วงเร็ว ก้านช่อดอกโดด รูปทรงกระบอก ยาว ๑๐-๑๔ ซม. มีใบประดับเป็นเส้น ๆ จำนวนมากติดรอบโคนก้าน ช่อดอกรูปทรงกระบอก กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๗.๕-๑๕ ซม. ปลายมน ไร้ก้าน สีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวมีดอกสมบูรณ์เพศจำนวนมาก ติดหนาแน่นรอบแกนดอกกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศเมียรูปหกเหลี่ยมปลายตัด กว้าง ๒.๕-๖ มม. ยาว ๔-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๔ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียรูปแถบ เมื่ออ่อนอาจกลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรียาวประมาณ ๕ มม. เปลือกบางมาก หรือไม่มี เมล็ดรูปคล้ายไต ยาวประมาณ ๕ มม. ผิวเรียบ มี ๑-๒ เมล็ด
งดเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคมาเลเซีย และหมู่เกาะโปลินีเซีย.