คนทีเขมาเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๔.๕(-๘) ม. เปลือกบาง ค่อนข้างเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นสีขาวหนาแน่น
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากมีใบย่อย ๕ ใบ ที่ปลายกิ่งมักมีใบย่อย ๓ ใบ ใบสดมีกลิ่น ก้านใบยาว ๒.๕-๘ ซม. ใบย่อยรูปรี รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนสอบขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ตรงกลางขอบใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ด้านล่างมีขนสั้นกระจัดกระจายและมีมากตามเส้นใบ ใบย่อยใบกลาง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ยอด ยาว ๕-๒๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ยาว ๒-๑๓ ซม. มีขนสั้นสีขาวหนาแน่น ดอกเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ๕ หยัก กลีบดอกสีนำเงิน ม่วง ชมพูหรือขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๕ มม. ด้านในของหลอดกลีบดอกมีขนยาวสีขาวหนาแน่น ด้านนอกมีขนสั้น ๆ สีขาว ปลายหลอดเป็นรูปปากเปิด แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมีแฉกเล็ก ๆ ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมนยาว ๑-๒ มม. ซีกล่างหยักลึกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางใหญ่สุด รูปไข่กลับ ยาว ๔-๕ มม. มีขนยาวสีขาวเป็นกระจุก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. มีวงกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่เกือบมิดผล ผลสุกสีดำ เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่ แข็ง มี ๔ เมล็ด
คนทีเขมาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแซนซิบาร์ โมซัมบิก และมาดากัสการ์ นำเข้ามาปลูกทั่วไปในประเทศไทย และแพร่กระจายพันธุ์ตามที่ชื้นพบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน
ประโยชน์ ทั้งต้นใช้แก้โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ใบแก้ปวดศีรษะ แก้ท้องเสีย แก้โรคเหน็บชา แก้อาการบวมนํ้า ขับลม ขับน้ำนม และขับระดู เมล็ดใช้แก้ไข้ บำรุงกำลัง และขับเสมหะ ใบมีน้ำมันระเหยง่าย เรซิน อิริดอยด์ และแอลคาลอยด์.