แกง

Cinnamomum tamala Nees & Eberm.

ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองนวล ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน

 แกงเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๔๐ ม. เรือนยอดรูปเจดีย์ถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีน้ำตาลเทา แตกสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาลแดง ยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสั้นสีขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แต่บางครั้งเรียงสลับ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๖.๕ ซม. ยาว ๙-๒๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นโคนใบ ๓ เส้น เริ่มจากโคนถึงปลายใบ เส้นใบย่อยไม่เด่นชัด ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. ดอกเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีเหลืองนวล เล็กมาก เกสรเพศผู้ ๙ อัน เรียงเป็น ๓ ชั้น อับเรณูเป็นช่องมีฝาเปิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. มี ๑ เมล็ด รูปรี

 แกงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือขึ้นในป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย สิกขิม เนปาล และพม่าตอนบน

 เปลือกต้นและใบมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ ใช้แต่งกลิ่นรสอาหาร และเป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แกง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinnamomum tamala Nees & Eberm.
ชื่อสกุล
Cinnamomum
คำระบุชนิด
tamala
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel
- Ebermaier, Johann Erdwin Christopher
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel (1776-1858)
- Ebermaier, Johann Erdwin Christopher (1769-1825)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม