แกคาง

Glyptopetalum sclerocarpum Lawson

ชื่ออื่น ๆ
แคค่าง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ช้องนาง, ดู่ด้อง, ป้องนก, มะเดาะ (เหนือ)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นปล้อง ๆ ยอดอ่อนมีหูใบรูปใบหอกแคบหุ้มอยู่ ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอดดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลมแป้น

แกคางเป็นไม้ต้น สูง ๔-๖ ม. กิ่งอ่อนเป็นปล้อง ๆ ปล้องค่อย ๆ สอบเรียวมาทางโคนและมักเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาวเปลือกเรียบ สีเทาหรือน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้ละเอียด สีขาว ยอดอ่อนมีหูใบรูปใบหอกแคบหุ้มอยู่

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายหยักเป็นติ่งแหลม โคนสอบขอบจักฟันเลื่อยแบบชั้นเดียวหรือสองชั้น แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขนหรือเกล็ดสีจางทั่วไปแต่หลุดง่าย เส้นกลางใบเป็นสันคมเมื่อแห้ง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๗ เส้น แต่ละเส้นมักคด ปลายจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ใบแห้งสีเขียวอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านบน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เป็นร่องทางด้านบน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอดยาวถึง ๒๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ เกสรเพศผู้ ๔ อัน อับเรณูแกว่งได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแบน

 ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. ผิวขรุขระ สีน้ำตาล มี ๔ พู ก้านผลยาว ๒-๔ ซม.

 แกคางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าดิบเขาและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แกคาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glyptopetalum sclerocarpum Lawson
ชื่อสกุล
Glyptopetalum
คำระบุชนิด
sclerocarpum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lawson, Peter
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- ( -1820)
ชื่ออื่น ๆ
แคค่าง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ช้องนาง, ดู่ด้อง, ป้องนก, มะเดาะ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางนัยนา วราอัศวปติ และ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย