เกี๋ยงหลวงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขากว้างขวาง สีน้ำตาลแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีเทาอมม่วง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นสามแถว บิดเป็นเกลียว รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๖-๘ ซม. ยาวได้ถึง ๒ ม. ปลายเรียวยาวขอบมีหนามสีดำ
ดอกแยกเพศต่างต้น ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีกลิ่นหอมแรง กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ห้อยลง เกสรเพศผู้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีกาบรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๒๕-๓๐ ซม. ปลายแหลมยาว สีขาว ช่อดอกเพศเมียมีหลายช่ออยู่บนก้านช่อดอกเดียวกันแต่ละช่อรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒๕-๖๐ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลเป็นผลกลุ่ม รูปทรงกระบอกหัวท้ายตัด สีน้ำตาลทอง กว้าง ๗-๘ ซม. ยาว ๑๐-๑๑ ซม. ผลย่อยแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง มีจำนวนมากเบียดกัน แต่ละผลปลายมีหนามเรียว ยาวผลละ ๑ อัน
เกี๋ยงหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา) ผลใช้เบื่อปลา.