เกี๋ยงพาช้างเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง ๐.๘-๒ ม. ลำต้นตั้งตรงและแข็งเป็นเนื้อไม้ที่โคนต้น แตกกิ่งเล็กน้อยที่ปลายลำต้น มีขนละเอียดตามยอดอ่อนและช่อดอก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับแกมรี หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๘ ซม. ยาว ๖-๓๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อยค่อนข้างละเอียดแผ่นใบด้านบนเป็นคลื่นและเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียด ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุกแน่น มีวงใบประดับ ๔-๕ วง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๑ ซม. ใบประดับยาว ๑-๙ มม. ใบประดับวงนอกรูปใบหอกแกมรูปไข่ วงในรูปใบหอกแคบขอบเป็นเยื่อบาง ๆ สีขาว มีขนละเอียดด้านหลัง มีขนครุยตามขอบและปลาย ก้านช่อดอกย่อยยาวประมาณ ๖ มม. ฐานรองกระจุกดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ค่อนข้างแบนราบ มีเกล็ดบาง ๆ หรือขนละเอียดทั่วไป ดอกสีเหลือง มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศเมีย กลีบดอกยาว ๕-๖ มม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก ดอกสมบูรณ์ เพศมีขนหรือสะเก็ดละเอียด ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน โคนอับเรณูมีรยางค์สั้น ๆ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เล็กมาก ดอกเพศเมียกลีบดอกเป็นเส้นเล็กยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาลอ่อน รูปทรงกระบอกโค้งเล็กน้อย ยาว ๑-๓ มม. มีสันตามยาว ๑๐ สันและมีขนละเอียด ที่ปลายผลมีวงขนสีขาวอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ยาว ๕-๖ มม.
เกี๋ยงพาช้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่ขึ้นมีร่มเงา ตามหุบเขาหรือริมลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและไต้หวัน
ในไต้หวันใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่และเหน็บชา ในภูมิภาคอินโดจีนใช้แก้หลอดลมอักเสบ แผลเปื่อยในช่องปาก ขับเหงื่อ ในมาเลเซียใช้ใบที่ต้มแล้วตำพอกแก้ปวดข้อ (Perry and Metzger, 1980).