เกาลัดจีนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีดำหรือน้ำตาลปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสีเทานุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยงและมีช่องอากาศกระจายอยู่ทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๑๐-๒๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนถึงบ้าน ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักเป็นหนาม แผ่นใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างมีนวลและมีขนสั้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๒๑ เส้น เส้นขั้นบันไดพอมองเห็นได้ทางด้านบน ก้านใบเรียว ยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนประปราย หูใบรูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนนุ่มสั้น ๆ ทั้ง ๒ ด้าน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ตั้งตรง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง ยาว ๔-๑๗ ซม. ดอกเพศผู้อยู่ตอนกลางและปลายช่อ ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแยกเป็น ๖ แฉก มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงทางด้านนอกและมีขนยาวด้านใน เกสรเพศผู้สีขาวอมเหลือง มี ๑๐-๑๒ อัน ก้านชูอับเรณูยาวเรียว ดอกเพศเมียอยู่ตามโคนช่อ ออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๒-๓ ดอก มีเกล็ดแหลมแข็งหลายอันหุ้ม ต่อมาเจริญเป็นเปลือกหุ้มผล ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกันปลายแยกเป็น ๖ แฉกและเชื่อมติดกับรังไข่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบรูปรี มีขน มี ๔-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด
ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มีกาบเป็นหนามแข็งหุ้ม เส้นผ่านศูนย์กลางรวมทั้งหนามยาวได้ถึง ๘ ซม. หนามแยกเป็นง่าม ๑-๒ ง่าม เมื่อแก่จัดการเปลือกแตกออกเผยให้เห็นผล ๑-๓ ผล สีน้ำตาลเป็นมัน ถ้ามีผลเดียวรูปป้อม ปลายแหลม ถ้ามี ๒-๓ ผล ผลแบนข้างเดียวหรือทั้ง ๒ ข้าง ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ มี ๑ เมล็ด เมล็ดเนื้อนุ่ม มีแป้งมาก
เกาลัดจีนเป็นพรรณไม้เขตอบอุ่นเหนือ ขึ้นบนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตามที่สูงทางภาคเหนือ ออกดอกตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ผลแก่จัดในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่จีน เกาหลี อินเดียตอนเหนือและไต้หวัน
เมล็ดทำให้สุกกินได้ รสหวานมัน เป็นที่นิยม.