เกาลัดเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๔-๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกเรียบหรืออาจแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ไปตามยาว ลำต้น กิ่งอ่อนเกลี้ยง มีรอยแผลใบอยู่ทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียนใกล้ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. โคนมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ปลายมนสอบแคบกว่าทางโคนใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ย่นเล็กน้อย ด้านบนเป็นมัน เส้นกลางใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ห้อยลง มีช่อแขนงมาก ดอกเล็ก สีชมพูอมเขียว กลิ่นหอมอ่อน ๆ รูปคล้ายโคมเล็ก ๆ ด้านนอกมีขนประปราย เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาวไม่เกิน ๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายผายออกเป็นรูปกรวย แล้วแยกเป็นแฉกยาว ๕ แฉก แต่ละแฉกโค้งงุ้มและติดกันบริเวณปลายแฉก และจะแยกเป็นอิสระพร้อม ๆ กับแฉกจะบิดเบี้ยว
ผลออกเป็นกลุ่ม ก้านช่อยาวถึง ๒๐ ซม. แต่ละกลุ่มย่อยมักมี ๒ ผล แบบผลแห้งแตก สีแดงหรือสีแสด มนหรือค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. เปลือกแข็ง มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เปลือกเป็นคลื่นไปตามรูปเมล็ดที่อยู่ภายใน ปลายผลมักเป็นจะงอยโค้งเล็กน้อย ผลแก่จัดแตกตามรอยประสาน ก้านผลเห็นไม่ชัด เมล็ดสีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. แต่ละผลมี ๑-๒ เมล็ด
เกาลัดเป็นพรรณไม้นำเข้ามาจากประเทศจีน ปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลางเพื่อกินเมล็ด แต่รสชาติไม่อร่อยเหมือนเมล็ดเกาลัดจีน (Castanea mollissima Blume) และปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ในต่างประเทศ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย นำเกาลัดจากจีนไปปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารเช่นกัน.