ตะไคร้แดง

Cymbopogon martini (Roxb.) W. Watson

ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้หอม (สงขลา)
ไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า ขึ้นเป็นกอแน่น มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น ตั้งตรง มักป่องตามข้อโดยเฉพาะข้อล่าง ๆ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบแคบ สีเขียวอ่อน ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยแบบไร้ก้าน มีรยางค์แข็ง กาบช่อดอกย่อยล่างของช่อดอกย่อยไร้ก้าน บริเวณด้านหลังกลางกาบใกล้โคนเป็นร่องลึกตามยาว ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ขนาดเล็ก เมล็ดรูปคล้ายผล

ตะไคร้แดงเป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า สูงได้ถึง ๓ ม. ขึ้นเป็นกอแน่น มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น ตั้งตรง มักป่องตามข้อ โดยเฉพาะข้อล่าง ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้างได้ถึง ๒.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจถึงมนกลม บางครั้งโคนโอบหุ้มลำต้น ขอบมีขนสาก แผ่นใบเกลี้ยง ด้านล่างมักมีนวล เส้นใบขนานจากโคนสู่ปลาย เรียงซ้อนเหลื่อม ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาว ๑.๕-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบแคบ สีเขียวอ่อน ออกที่ยอด ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. มีช่อแขนงย่อยจำนวนมากเรียงสลับฟันปลา โคนช่อแขนงย่อยมีกาบรองรับ กาบรูปใบหอกหรือรูปรี ยาว ๒-๔ ซม. ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ ยาว ๑.๕-๒ ซม. แต่ละช่อแขนงมีช่อดอกย่อยหลายช่อบนแกนกลาง แกนกลางช่อดอกย่อยกับก้านช่อดอกย่อยคล้ายกันเป็นก้านเรียวเล็ก ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายโป่งพอง มีขนอุยที่ขอบ ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่แบบไร้ก้านและแบบมีก้าน ช่อดอกย่อยแบบไร้ก้านรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๓.๕-๔.๕ มม. กาบช่อดอกย่อยล่างรูปใบหอก ยาว ๓.๕-๔.๕ มม. ปลายเรียวแหลม ด้านหลังมีสัน ๒ สัน สันด้านบนปลายกาบมีปีกกว้าง บริเวณด้านหลังกลางกาบใกล้โคนเป็นร่องลึกตามยาว อาจพบเส้นสันเห็นไม่ชัด ๒ เส้นอยู่ระหว่างสัน กาบช่อดอกย่อยบนรูปใบหอก ขนาดเล็กกว่ากาบช่อดอกย่อยล่างเล็กน้อย ปลายแหลม ด้านหลังมีสัน ๑ สัน ดอกย่อยมี ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน กาบล่างเป็นเยื่อบาง ไม่มีกาบบน ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างปลายหยักเป็น ๒ หยัก ระหว่างหยักอาจมีรยางค์แข็ง ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ไม่มีกาบบนหรือลดรูปเป็นเกล็ดขนาดเล็ก กลีบเกล็ดขนาดเล็กมี ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย อับเรณูติดไหวได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้าน ช่อดอกย่อยแบบมีก้านทั้งช่อยาว ๓.๕-๔ มม. มักพบเพียงกาบช่อดอกย่อย ๒ กาบ และมีดอกย่อยเพศผู้ ๑ ดอก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ขนาดเล็ก เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตะไคร้แดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและภูมิภาคอินโดจีน ปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยผสมในสบู่และแชมพู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะไคร้แดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbopogon martini (Roxb.) W. Watson
ชื่อสกุล
Cymbopogon
คำระบุชนิด
martini
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้หอม (สงขลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์