ชมพูพวงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๙๐ ซม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจหรือรูปไข่ กว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม เป็นติ่งแหลมหรือมน โคนเว้ารูปหัวใจหรือตัด ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนประปรายหรือเกือบเกลี้ยงเส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบแบบขนนกข้างละ ๔-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๘ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. มีขนรูปดาวหนาแน่น เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกันเป็นอิสระ ด้านในสีชมพูอ่อน ด้านนอกสีม่วงอมแดง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลม มีขนรูปดาวหนาแน่น กลีบดอกสีชมพู มี ๕ กลีบ กลีบบน ๔ กลีบ รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบล่าง ๑ กลีบ ลักษณะเป็นถุง กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. เกลี้ยง ยกเว้นบริเวณที่เป็นส่วนโค้งหรือฐานดอกมีขน เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๑๐ เกสร ที่เป็นหมัน ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูทั้งหมดโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายหลอดขยายเป็นรูปถ้วย ยาว ๔-๘ มม. มีขน ขอบหลอดหยักเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกมีอับเรณูที่สมบูรณ์และมีก้านชูยาว ๒ ก้าน ระหว่างแฉกมีอับเรณูที่เป็นหมันและมีก้านชูสั้น ๑ ก้าน อับเรณูติดด้านหลัง รูปไต กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๑ มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๓-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. มีขนหนาแน่น มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยงดอกและผล ยอดเกสรเพศเมียมี ๕ พู
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู สีชมพูอมเขียว รูปทรงเกือบกลม มี ๕ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ ซม. เปลือกผลบางคล้ายเยื่อกระดาษ เมล็ดในแต่ละพูติด ตรงกลางของผนังกั้น มี ๑-๒ เมล็ด รูปทรงกลม
ชมพูพวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบขึ้นเป็นกลุ่มบนพื้นที่โล่งริมลำธาร ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาและเอเชียเขตร้อนจนถึงออสเตรเลีย
ประโยชน์ ในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ในมาเลเซียใช้เปลือก ต้น และใบ กำจัดเห็บ เหา และไร.