จวงคำดอกขาวเป็นกล้วยไม้ดินล้มลุกหลายปีมีหัวใต้ดินสีน้ำตาลอ่อน รูปรี กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. หัวมักอยู่เป็นคู่ ต้นเหนือดินรวมทั้งช่อดอกสูง ๐.๙-๑.๕ ม. ช่วงที่มีใบสูง ๔๐-๕๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๔-๖ ใบ ใบช่วงกลางต้นขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่ถัดไปทางโคนและปลายต้น รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนเป็นกาบโอบหุ้มปล้องประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวปล้องแผ่นใบค่อนข้างมีเนื้อ อวบหนา เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นโคนใบมีหลายเส้น เห็นไม่ชัด
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามยอด ทั้งช่อยาว ๐.๖-๑ ม. ก้านช่อยาว ๕๐-๘๐ ซม. มีใบประดับคล้ายใบจากขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก เรียงเวียนจากโคนไปสู่ปลาย ใบประดับโอบหุ้มก้านช่อ แกนช่อยาว ๑๕-๒๐ ซม. ดอกในช่อค่อนข้างโปร่ง เรียงเวียนรอบแกน ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๔-๕ ซม. กางออกจากแกน
กลางหรือโค้งลงเล็กน้อย ใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวใกล้เคียงกับก้านดอก ขอบมีขนครุย ดอกสีขาวหรือสีนวล ขนาดประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปค่อนข้างกลมคล้ายหมวก กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๖-๗ มม. กลีบด้านข้างห้อยลง รูปรีแกมรูปขอบขนานและเบี้ยว กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายเป็นติ่งสามเหลี่ยมคล้ายจะงอย กลีบข้างซีกนอกย้วยห้อยลง เส้นกลีบเห็นชัด และโค้งตามขอบกลีบไปสู่ปลาย กลีบดอกมี ๓ กลีบ กลีบด้านข้างอยู่ในแนวตั้ง แนบไปกับกลีบเลี้ยงกลีบบน รูปขอบขนาน
เบี้ยวเล็กน้อย กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. ปลายมนกลีบปากรูปแถบแคบ ช่วงโคนกลีบกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายแยกเป็นแถบเรียวยาว ๓ แถบ ห้อยลงแถบกลางค่อนข้างตรง ยาว ๒.๕-๓ ซม. แถบข้างยาว ๓-๓.๕ ซม. กางออกจากแถบกลางเล็กน้อย ปลายบิดงอ เดือยกลีบปากคล้ายก้านดอกและยาวกว่าก้านดอกเล็กน้อย โค้งงอ ช่วงปลายป่องรูปคล้ายกระบอง เส้าเกสรสูงประมาณ ๕ มม. อับเรณูมี ๒ พู แต่ละพูรูปคล้ายกระบอง เรียงตัวในแนวนอน ปลายสอบเรียว ยาวยื่นไปทางด้านหน้าเส้าเกสร อับเรณูแตกตามยาว แต่ละพูมีกลุ่มเรณู ๑ กลุ่ม รูปรี ประกอบด้วยกลุ่มเรณูย่อย ๆ จำนวนมาก ก้านกลุ่มเรณูยาว ปลายเป็นปุ่ม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ส่วนที่มีออวุลมีลักษณะโป่งพอง ช่วงโคนรูปทรงกระบอก เหนือขึ้นไปสอบเรียว ยาว ๒-๒.๕ เท่าของช่วงโคน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมล็ดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก
จวงคำดอกขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๓๘๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และเวียดนาม.