กระดาดเป็นไม้ล้มลุก สูงกว่า ๑ ม. ลำต้นตั้งตรง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างแกมรูปหัวใจ กว้าง ๒๕-๔๐ ซม. ยาว ๓๐-๙๐ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าลึก แคบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๓ เส้น ก้านใบใหญ่ สีเขียวหรือม่วง ยาว ๐.๕-๑.๒ ม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ตั้งตรงเป็นแท่ง ยาว ๘-๑๗.๕ ซม. กลิ่นหอม ก้านช่อดอกยาว ๒๕-๕๐ ซม. มีกาบสีเหลืองอมเขียว ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. โอบหุ้มรอบโคนช่อดอกปลายกาบแหลม ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไม่มีกลีบดอก กลุ่มดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมื่อบานยาว ๒.๕-๓ ซม. เป็นผลแล้วยาว ๔-๕ ซม. มีดอกน้อยกว่าดอกเพศผู้ กลุ่มดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๒ ซม. ระหว่างกลุ่มดอกเพศผู้และกลุ่มดอกเพศเมียคอดยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายสุดค่อนข้างใหญ่ สีเหลืองอ่อนถึงขาวนวล ยาว ๓.๕-๑๓ ซม. ปลายมน เป็นส่วนที่ไม่มีดอก ดอกเพศผู้มีอับเรณูขนาดเล็ก ๓-๘ อัน รูปแถบ เชื่อมติดกันคล้ายรูปกรวยฐานหกเหลี่ยม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม ยาวประมาณ ๕ มม. ผิวบาง ผลสุกสีส้มหรือสีแดง มีเมล็ดแข็ง ๑ เมล็ด
กระดาดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในที่ชื้น รกร้าง มีแดดรําไร ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
นอกจากปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ส่วนต่าง ๆ ยังใช้เป็นยารักษาโรค คือ รากใช้กินเป็นยาระบายอย่างอ่อน ขับปัสสาวะ ทาแก้พิษแมลงป่อง (Chopra, Nayar and Chopra, 1956) รากและใบสับปนกันใช้พอกแก้โรคปวดตามข้อ (Burkill, 1966) เหง้าใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (Burkill 1935; Dastur, 1952 Watt, 1972) ใช้ใส่แกง (Usher, 1974) เหง้าต้มสุกกินได้ ไหลใช้กินเพื่อขับพยาธิ (Dastur, 1952) เหง้าโขลกตำพอกแผลที่เป็นหนอง ลำต้นและก้านใบต้มทิ้งน้ำหลาย ๆ ครั้งกินได้ (สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สํานักวัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๐๗) ใช้เป็นยาฝาดสมานห้ามเลือด (Chopra, Nayar and ต้นกระดาดมีสารพวกเรซินและ protoanemonine ซึ่งเป็นพิษ มี calcium oxalate และ hydrocyanic acid (Perry and Metzger, 1980) ซึ่งทำให้ผิวหนังบวมแดง (Quisumbing, 1951)