เกล็ดหอยตัวผู้เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งมาก ทอดยอดตามพื้นดิน ยาว ๓๐-๖๐ ซม.
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนเป็นติ่งยาวยื่นลงด้านล่าง ขอบหยักลึกเรียวแหลมคล้ายขน กว้าง ๑-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีใบย่อย ๒ คู่ รูปไข่กลับ ถึงรูปไข่ กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายตัดหรือหยักเว้า โคนมนถึงสอบ ขอบหยักตื้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ก้านช่อยาว ๒-๕ ซม. มีใบประดับขนาดใหญ่บังดอกไว้ ๖-๑๒ อัน รูปไต ขอบหยักลึกเรียวแหลมคล้ายขน กว้างและยาว ๐.๕-๑ ชม. เรียงซ้อนกันเป็นกลุ่มที่ปลายก้านช่อ ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลืองขนาดเล็ก ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง โดยมากมีออวุล ๑ เม็ด
ฝักแบน รูปไตแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. มักมี ๑ เมล็ด รูปไต ขนาดเล็ก
เกล็ดหอยตัวผู้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นในที่โล่งชื้นแฉะ นาข้าว และชายป่าดิบใกล้ชายฝั่งทะเล ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย.