หญ้าเกล็ดหอยชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นทอดขนานกับพื้นดิน ยาว ๑๐-๕๐ ซม. แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาว
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๔-๖ มม. มีขนประปราย หูใบเล็กมาก รูปไข่ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยว ใบย่อยรูปไข่กลับ กว้างและยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนาดใกล้เคียงกันหรือใบย่อยใบกลางใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้างเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีขาวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น หูใบย่อย เล็กมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ยอดช่อละ ๒-๕ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ มม. ดอกเล็ก รูปดอกถั่ว สีม่วงแดง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนนุ่ม สีขาว กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายหยักตื้น ๆ ถึงมน โคนสอบ กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด
ฝักแบน โค้งเล็กน้อย กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๖-๑.๗ ซม. คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด มีขนที่ขอบฝักทั้ง ๒ ด้าน ส่วนใหญ่มี ๓-๕ ข้อ แต่บางครั้งมีถึง ๗ ข้อ เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดจากกัน เมล็ดเล็ก รูปไต
หญ้าเกล็ดหอยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในที่โล่ง บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วไป
เป็นพืชสมุนไพร ยาชงใช้แก้ท้องร่วง ยาต้มจากรากแก้ปวดท้อง ใบแก้โรคผิวหนัง แก้คัน ทั้งต้นโขลกใช้น้ำใส่แผลอักเสบ (Perry and Metzger, 1980).