เกล็ดแรดเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่งกว้าง ๆ เปลือกนอกสีเทาอมน้ำตาล แตกล่อนเป็นสะเก็ดหนา เปลือกในเป็นเส้นใยสีชมพูเรื่อ ๆ กิ่งอ่อนอวบ ย่น เต็มไปด้วยรอยแผลใบและขนสากสีน้ำตาล ขนจะค่อย ๆ ร่วงไปเมื่อกิ่งแก่
ใบเดี่ยว เรียงเวียนกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปหัวใจหรือป้อมคล้ายรูปโล่ กว้าง ๑๑-๒๑ ซม. ยาว ๑๗-๒๘ ซม. ปลายมนหรือหยักเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนผายกว้างแล้วหยักเว้าลึก ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนสีเทานุ่มหนาแน่น เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น และเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ด้านบนมักเป็นร่อง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัดก้านใบยาวประมาณ ๑๕ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกเหนือรอยแผลใบค่อนไปทางปลายกิ่ง แต่ละช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. และส่วนมากห้อยลง มีขนทั่วไป ดอกเล็ก สีชมพู กลิ่นหอมอ่อน รูปคล้ายโคมเล็ก ๆ มีขนประปรายทางด้านนอก เส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อดอกบานเต็มที่ไม่เกิน ๑ ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก
ผลออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๕ ผล ผลสีแดงหรือสีแสด รูปทรงกลมเบี้ยว ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ ซม. ก้านช่อยาวถึง ๒๐ ซม. ผิวแข็งคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนมีขนประปราย ผลแก่แตกตามรอยประสาน ภายในมีเมล็ดสีดำเป็นมันรูปรี เรียงเป็นแถว แต่ละเมล็ดยาวไม่เกิน ๑.๕ ซม.
เกล็ดแรดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น บริเวณเขาหินปูน บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
เนื้อไม้ใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม ทำไม้แบบ ลังใส่ของและไม้อัด