เกล็ดมังกร

Dischidia nummularia R.Br.

ชื่ออื่น ๆ
กะปอดไม้, เบี้ยไม้ (กลาง); หญ้าเกล็ดลิ่น (ชลบุรี)
ไม้เกาะเลื้อยอิงอาศัย มียางขาว รากออกตามข้อและปล้อง ใบเรียงตรงข้าม ค่อนข้างกลมคล้ายเบี้ย ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวนวล รูปคล้ายคนโท ฝักรูปทรงกระบอก ฝักแก่แตกแนวเดียว เมล็ดมีขนยาวสีขาวเป็นพู่ที่ปลายด้านหนึ่ง

 เกล็ดมังกรเป็นไม้เกาะเลื้อยอิงอาศัย มียางขาว ลำต้นเล็ก รากออกตามข้อและปล้อง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ค่อนข้างกลมคล้ายเบี้ย กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมีติ่งสั้น ใบหนาและอวบน้ำมองไม่เห็นเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ ๑ มม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบ มี ๑-๕ ดอก บานทีละดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกสีขาวนวลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ ขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ โคนติดกัน รูปคล้ายคนโท ปลายแยกเป็น ๕ แฉก โคนแฉกด้านในมีขนยาวสีขาว ชี้ลง เส้าเกสรประกอบด้วยรยางค์ ๕ อัน สีขาว แต่ละอันลักษณะคล้ายสมอเรือ โคนติดกันเป็นวง กลุ่มเรณูเป็นแผ่นติดเป็นคู่ ก้านกลุ่มเรณูแผ่กว้าง ขนาดใกล้เคียงกับกลุ่มเรณูแผ่นยึดก้านสีน้ำตาลเข้ม รังไข่ ๒ อัน อยู่เหนือวงกลีบ แต่ละอันมี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก แยกจากกันแต่ติดกันตรงปลาย

 ฝักรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๕-๔ ซม. ฝักแก่แตกแนวเดียว มีเมล็ดมาก เมล็ดมีขนยาวสีขาวเป็นพู่ที่ปลายด้านหนึ่ง

 เกล็ดมังกรมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบมากในป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าชายหาด ขึ้นชิดกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้และหิน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย

 เป็นไม้ประดับประเภทใบไม้ นิยมปลูกใส่กระเช้าหรือให้เกาะตามต้นไม้ ต้นใช้แก้อักเสบ ปวดบวม ใบสดตำพอกแก้พุพอง (Quisumbing, 1951).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เกล็ดมังกร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dischidia nummularia R.Br.
ชื่อสกุล
Dischidia
คำระบุชนิด
nummularia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1773-1858)
ชื่ออื่น ๆ
กะปอดไม้, เบี้ยไม้ (กลาง); หญ้าเกล็ดลิ่น (ชลบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง