เกล็ดปลาหมอเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑.๕ ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนนุ่มสีเทาถึงเหลืองอ่อนหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบ ประกอบยาว ๒-๔ ซม. มีขนหนาแน่น ใบย่อยมีขนทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างหนาแน่นกว่า ใบย่อยใบกลางรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๗-๑๐ ซม. ปลายถึงหยัก
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกแบบซี่ร่มตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. แต่ละกระจุกมีใบประดับ ๑ คู่ ลักษณะคล้ายใบย่อยคู่ข้างบังกระจุกดอกไว้ ใบประดับรูปรีถึงรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. แต่จะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล ปลายมนถึงหยักเว้า โคนเบี้ยว ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มม. โคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกบนใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ ด้านนอกมีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กลับปลายมน โคนสอบ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลประมาณ ๓ เม็ด
ฝักแบน รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด มักมี ๓ ข้อ มีขนสีเทาเป็นมันหนาแน่น เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดจากกัน เมล็ดเล็กรูปไต
เกล็ดปลาหมอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นในที่โล่งแจ้งตามชายป่า บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย.