เกล็ดปลา

Phyllodium longipes (Craib) Schindl.

ชื่ออื่น ๆ
เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), ลูกลีบต้น (เชียงใหม่)
ไม้พุ่ม ใบประกอบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ใบประดับรูปรีถึงกลมดอกรูปดอกถั่ว สีขาวถึงเหลืองอ่อน ฝักแบน รูปขอบขนานคอดเป็นข้อ

เกล็ดปลาเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน

 ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบสั้น หูใบประกอบมีลักษณะคล้ายหูใบแต่ขนาดเล็กกว่ามาก ใบย่อยด้านบนมีขนสั้น ๆ ประปราย ด้านล่างมีขนนุ่ม


หนาแน่น ก้านใบย่อยยาว ๑.๕-๒ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนเบี้ยว ใบย่อยใบกลางรูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนถึงหยักเว้าเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๗ เส้น ใบย่อยคู่ข้างรูปไข่ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายมนถึงแหลม โคนเบี้ยว

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ดอกเล็ก รูปดอกถั่ว สีขาวถึงเหลืองอ่อน ออกเป็นกระจุก ๕-๑๕ ดอก เรียงสลับไปตามแกนช่อดอก แต่ละกระจุกมีใบประดับรูปรีถึงกลมรีปลายมนบังกระจุกดอกไว้ แต่ละใบกว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๔.๕ ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วยขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกบนสุดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปรีถึงรูปไข่กลับปลายมนโคนสอบ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๘-๙ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล หลายเม็ด

 ฝักแบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด ส่วนใหญ่มี ๔-๕ ข้อ มีขนสั้น ๆ เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดจากกัน เมล็ดเล็ก รูปไต

 เกล็ดปลามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นตามชายป่าทั่วไป บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ พม่า ลาว และกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เกล็ดปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Phyllodium longipes (Craib) Schindl.
ชื่อสกุล
Phyllodium
คำระบุชนิด
longipes
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Schindler, Anton Karl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Schindler, Anton Karl (1879-1964)
ชื่ออื่น ๆ
เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), ลูกลีบต้น (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม