เกล็ดนาคราชเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าเล็ก ทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ยาวได้มากกว่า ๑ ม. และแตกสาขาได้ดี เหง้ามีเกล็ดขนาดเล็กทั่วไป เกล็ดรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ขอบหยักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ
ใบเดี่ยว มีรูปร่างต่างกัน ๒ แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์รูปไข่ถึงเกือบกลม กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายมน โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา มีขนรูปดาวทั่วไป ทั้ง ๒ ด้านแต่ไม่หนาแน่น เส้นใบเห็นไม่ชัด ไม่มีก้านใบ
ใบสร้างอับสปอร์รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายมน โคนสอบเรียวเล็กลงเส้นกลางใบเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบ ขน และเส้นใบมีลักษณะเช่นเดียวกับใบไม่สร้างอับสปอร์ ก้านใบสั้น กลุ่มอับสปอร์กว้างประมาณ ๓ มม. ไม่มีเยื่อคลุม เรียงเป็นแถวขนานกับขอบใบ ขณะที่ยังอ่อนมีขนรูปดาว
เกล็ดนาคราชมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนต้นไม้ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทั่วไปบริเวณค่อนข้างร่ม บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนเหนือจีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ในมาเลเซียใช้ใบบดกับยิปซัมทาผิวหนังแก้อาการคัน (Burkill, 1935).