ตะเข้คุมวังเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒-๘ ซม. ยาว ๒.๒-๑๖ ซม. ปลายมนกลมถึงเรียวแหลมทู่ โคนหยักเว้าตื้นถึงโคนตัด ขอบค่อนข้างเรียบถึงหยักซี่ฟัน ปลายซี่ฟันมีต่อม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นใบ มักมีตุ่มใบที่มีขนเป็นกระจุก มีเกล็ดต่อมประปราย เส้นโคนใบมี ๓ เส้น ใบเมื่อแห้งสีออกน้ำตาล ก้านใบยาว ๐.๓-๕.๕ ซม. เกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๖-๑ มม. ยาว ๒.๓-๗ มม. ร่วงเร็ว
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๒ ซม. มักออกเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ละช่อย่อยมีดอกประมาณ ๕ ดอก ใบประดับรูปรี กว้าง ๐.๔-๐.๗ มม. ยาว ๑.๖-๒.๓ มม. ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ รูปรีถึงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ประมาณ ๒๕ เกสร มีแกนอับเรณูกว้าง ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง ๒ ซม. ส่วนมากมี ๒ ดอก อาจพบบ้างมี ๑ ดอก หรือมีได้ถึง ๔ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๔.๕ มม. ใบประดับรูปรี กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ดอกเพศเมียเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๓ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๑ มม. ยาวประมาณ ๓.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๒.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ไม่มีหนาม มีขนอุยหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ มม. ติดทน ยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๗-๒ มม. ติดทน มักมีปุ่มยาวเล็ก ๆ
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างรี มี ๓ พู กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. มีขนอุยหนาแน่น ไม่มีหนาม เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม.
ตะเข้คุมวังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลาง พบในที่โล่ง ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐-๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม
ประโยชน์ เปลือกใช้เป็นสมุนไพร เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ใบใช้เลี้ยงสัตว์ ผลกินได้ แต่มีรสฝาด.