ชมพูนุช

Pedicularis evrardii Bonati

ชื่ออื่น ๆ
หญ้าใบหยัก (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปีและพืชกึ่งเบียน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแคบหรือรูปขอบขนาน พบน้อยที่เป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบกึ่งช่อกระจุก ออกตามซอกใบค่อนข้างแน่น สีม่วงหรือสีชมพูผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ แบนข้าง ปลายสอบเรียวถึงเรียวแหลม เมล็ดทรงรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

ชมพูนุชเป็นไม้ล้มลุกหลายปีและพืชกึ่งเบียน รากอวบหนา รูปคล้ายกระสวย ต้นตั้ง สูง ๒๐-๘๐ ซม. เป็นลำต้นเดี่ยว ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งห่าง ๆ หลายกิ่ง รูปทรงกระบอก มีขนแบบขนแกะค่อนข้างหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแคบหรือรูปขอบขนาน พบน้อยที่เป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๘ ซม. ปลายมน โคนสอบเรียวแกมรูปลิ่ม ขอบหยักมน แผ่นใบค่อนข้างบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มค่อนข้างหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบกึ่งช่อกระจุก ออกตามซอกใบค่อนข้างแน่น ยาว ๔-๑๐ ซม. ก้านดอกสั้นมากใบประดับลดรูปลักษณะคล้ายใบ กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉก แฉกหน้าหยักเว้าลึก กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีขาว แฉกข้างหยักเล็ก ๆ ๒ หยัก รูปไข่กว้าง ขอบหยักซี่ฟัน กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๒-๔.๕ ซม. สีม่วงหรือสีชมพู ด้านนอกเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกัน เป็นหลอดตรง ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก แฉกซีกบนรูปคล้ายหมวก ส่วนปลายโค้งเข้า กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. บริเวณปลายสุดเป็นจะงอยสั้น ๆ มีหยักเล็ก ๆ ๒ หยัก แฉกซีกล่างกางออก กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. มี ๓ พู แต่ละพูรูปไข่ ปลายกลมมน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้ายคู่ที่อยู่ด้านหน้ามีขนยาวห่าง ๆ หรือเกลี้ยง คู่ที่อยู่ด้านหลังเกลี้ยง อับเรณูชิดกันเป็นคู่อยู่ใต้แฉกซีกบนรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๔ มม. โคนแหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ปลายสอบเรียวถึงเรียวแหลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ แบนข้าง ปลายสอบเรียวถึงเรียวแหลม กว้าง ๓.๕-๘ มม. ยาว ๑-๒ ซม. มีแต้มสีเขียวอมม่วง เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดทรงรูปไข่ถึงรูปขอบขนานตรงหรือโค้ง มีจำนวนมาก

 ชมพูนุชมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามที่ชื้นแฉะเปิดโล่งในป่าสนผสมป่าเต็งรังหรือป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูนุช
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pedicularis evrardii Bonati
ชื่อสกุล
Pedicularis
คำระบุชนิด
evrardii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1927)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้าใบหยัก (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์