ควินิน ๑

Cinchona calisaya Wedd.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกสีเทา ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปรี หูใบระหว่างก้านใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ ปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแยก ทรงรูปไข่ค่อนข้างเรียว เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน แบน มีปีกบางล้อมรอบ

ควินินชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๔-๑๐ ม. มีเปลือกสีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๒๕-๒๙ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ ด้านล่างสีเขียวหรือสีม่วงอ่อนคล้ายกำมะหยี่ เมื่ออ่อนสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๑ เส้น มีตุ่มใบตามง่ามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๖ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ปลายมน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑.๗-๓.๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๗-๑๘ ซม. ดอกเล็ก สีเหลืองกลิ่นหอม ใบประดับเล็ก สีแดง รูปใบหอก ปลายแหลมกลีบเลี้ยงสีแดง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว ๓-๔ มม. มีขนสีขาวหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก ยาว ๓-๔ มม. โค้งลง ขอบกลีบมีขนยาวอ่อนนุ่มสีขาวนวลด้านนอกมีขนสั้น ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ส่วนล่างของหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นหรือยาว อับเรณูอยู่ภายในหรือระดับปากหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกลี้ยงหรือมีขนอ่อนนุ่มเล็กน้อย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแยก ทรงรูปไข่ค่อนข้างเรียวกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. เมื่อแก่แตกตามรอยประสานจากโคนไปสู่ปลายผลเป็น ๒ ซีก กลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ก้านผลยาว ๒-๔ มม. เมล็ดแบน รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๖ มม. มีจำนวนมาก มีปีกบางล้อมรอบ

 ควินินชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่

 ประโยชน์ สารสกัดจากเปลือกต้นควินินใช้บำบัดโรคมาลาเรีย มีแอลคาลอยด์ในกลุ่ม quinolines มากกว่า ๒๐ ชนิด ที่สำคัญคือ quinine, quinidine, cinchonine และ cinchonidine ปริมาณของแอลคาลอยด์รวมแตกต่างกันตามชนิด และแหล่งปลูก ชนิด C. calisaya Wedd. ให้แอลคาลอยด์รวมสูงกว่าชนิด C. succirubra Pav. ex Klotzsch และ quinine เป็นแอลคาลอยด์หลัก ส่วนชนิด C. succirubra Pav. ex Klotzsch มี cinchonine เป็นแอลคาลอยด์หลัก แอลดาลอยด์เหล่านี้ใช้ในการบำบัดโรคมาลาเรียได้ และที่นำมาใช้กันมากคือ quinine ส่วน quinidine นั้นใช้มากในการบำบัดโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ นอกจากนี้เปลือกต้นควินินยังใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไข้ เป็นยาฝาดสมานโดยการทำเป็นยาต้มอมกลั้วคอ

 ชาวบ้านมักเรียกสะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A. Juss.) ว่าควินินด้วย เนื่องจากใบและเปลือกต้นมีรสขม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ควินิน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinchona calisaya Wedd.
ชื่อสกุล
Cinchona
คำระบุชนิด
calisaya
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Weddell, Hugh Algernon
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1819-1877)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย