ข้าวตอกปราจีนเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง ขึ้นชิดกันเป็นกอ ต้นค่อนข้างอวบน้ำ รูปทรงกระบอก สูง ๘-๑๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้น ๕-๗ มม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ ค่อนไปทางยอด มี ๔-๗ ใบ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายหยักตื้นเป็นแฉกแหลม โคนสอบโอบครึ่งรอบของข้อแผ่นใบค่อนข้างบาง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อตรงข้ามใบเป็นช่อสั้น มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกและรังไข่ยาวประมาณ ๘ มม. ดอกสีขาวหรือสีเขียวอ่อนอมขาว กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปใบหอกกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายแหลม กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ฐานเบี้ยว กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๗-๘ มม. ปลายแหลม โคนติดทาบไปตามคางเส้าเกสร กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม กลีบที่เป็นกลีบปากอยู่ทางด้านล่าง รูปคล้ายลิ่ม ยาว ๑-๑.๒ ซม. หูกลีบปากรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือแหลมมนกลีบปากช่วงปลายรูปคล้ายเมล็ดถั่ว ปลายมนหรือตัดมักจะหยักเว้าตื้น หรือมีติ่งแหลมเล็ก แนวกลางกลีบปากด้านบนสีเขียวอ่อน มีสันตามยาว ๓ สัน สันที่อยู่ตรงกลางสูงและยาวกว่าสันด้านข้าง มักจะมีจุดประสีน้ำตาลตามร่องระหว่างสันกับแนวเส้นกลีบ เส้าเกสรสั้นฝาปิดกลุ่มเรณูสีขาว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กลุ่มเรณูรูปรีมี ๒ คู่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่ง รูปค่อนข้างกลม อยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมล็ดมีจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง
ข้าวตอกปราจีนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคกลาง พบตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.