กระด้าง

Lasianthus hookeri C.B.Clarke ex Hook.f.

ไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่ถึงกลุ่ม

กระด้างเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. แตกกิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมเหมือน


มีรยางค์เป็นเส้นยาวยื่นออกจากปลายใบ โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นประปรายเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายขนานกับขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือช่อกระจุกแยกแขนง มี ๓-๘ ดอก ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกมีขน ดอกเล็ก สีขาวรูปถ้วย ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูปถ้วย ปลายจักเป็นแฉกยาวรี ๓-๗ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดแคบยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓-๗ แฉก ด้านในมีขนแน่นกว่าด้านนอก เกสรเพศผู้ ๔-๖ อัน ติดอยู่ระหว่างแฉกภายในกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๔-๙ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ติดที่ฐาน ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นปลายแยก ๓-๙ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวเข้ม รูปไข่ถึงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ปลายผล ก้านผลสั้น มี ๓-๖ เมล็ด

 กระด้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง หรือป่าพรุ ตามที่ลุ่มริมลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า และมาเลเซีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระด้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lasianthus hookeri C.B.Clarke ex Hook.f.
ชื่อสกุล
Lasianthus
คำระบุชนิด
hookeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron (1832-1906)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ