เกล็ดกระโห้

Clusia rosea Jacq.

ไม้ต้น ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง สีขาวหรือชมพู ผลแก่แล้วแตก สีเขียวอมน้ำตาล

เกล็ดกระโห้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. ทุกส่วนมียางสีเหลือง เปลือกเรียบ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๘ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบ ขอบหนา แผ่นใบหนา ด้านบนเรียบไม่เห็นเส้นใบหรือเห็นเพียงราง ๆ ด้านล่างเห็นเส้นกลางใบชัด เส้นแขนงใบเป็นเส้นละเอียด ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. มีรอยบุ๋มที่โคนก้านเห็นได้ชัด

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง กิ่งละ ๒-๓ ดอกสีขาวหรือชมพู ใบประดับ ๒-๔ ใบ เล็กกว่ากลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง ๔-๖ กลีบ ยาวประมาณ ๒ ซม.
กลีบดอก ๖-๘ กลีบ รูปไข่กลับหรือเกือบกลม กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้อยู่โดยรอบ เรียงหลายชั้น เกสรที่สมบูรณ์อยู่ตอนในและติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมันติดกันเป็นรูปถ้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นรัศมี ๖-๙ แฉก

 ผลแก่แล้วแตก สีเขียวอมน้ำตาล ภายในสีอ่อนกว่า มีเมล็ดบาง ๆ ติดอยู่กับแกนกลาง เนื้อนุ่ม มีเยื่อสีแดงเข้มหุ้มเมล็ด

 เกล็ดกระโห้เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะเวสต์อินดิสมีทั้งชนิดใบเขียว ใบด่างเหลืองที่ขอบ และต่างเหลืองกระจายทั่วไป นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์โดยการตอน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เกล็ดกระโห้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Clusia rosea Jacq.
ชื่อสกุล
Clusia
คำระบุชนิด
rosea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jacquin, Nicolaus (Nicolaas) Joseph von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1727-1817)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์