เกดเป็นไม้ต้น มียางขาว สูง ๑๕-๒๕ ม. เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลม ลำต้นและกิ่งมักคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมหรือแตกเป็นร่องลึกตามยาว เปลือกในสีแดงอมน้ำตาลหรือชมพู
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายมนกว้างและหยักเว้า โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีนวล เส้นแขนงใบเรียงขนานกันถี่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๖-๒ ซม.
ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้น ออกตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบ ปลายดอกชี้ลง ดอกสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเล็กน้อย กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอก ๖ แฉก เกสรเพศผู้สมบูรณ์และเป็นหมันอย่างละ ๖ อัน เรียงสลับกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนนุ่มทั่วไป
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมรี กว้าง ๐.๙-๑.๑ ซม. ยาว ๑.๔-๒ ซม. ส่วนบนมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดค้างอยู่เป็นติ่งแหลม ฐานผลมีกลีบเลี้ยงที่เจริญขึ้นมารองรับ ผลสุกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อนุ่ม มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดแข็ง สีน้ำตาลแดงเป็นมัน รูปไข่ ยาว ๑-๑.๕ ซม.
เกดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นกระจัดกระจายในป่าชายหาด บนพื้นที่ดินร่วนปนทรายใกล้ฝั่งทะเล และตามเขาหินปูนบนเกาะที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนักในต่างประเทศพบที่เกาะไหหลำของจีน อินเดีย ศรีลังกา เวียดนามและกัมพูชา
เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง แข็ง ทนทาน แต่เลื่อยยาก แตกและบิดง่าย ใช้ทำเครื่องมือเกษตรกรรม เปลือกมีน้ำฝาด ผลสุกกินได้.