เก๊กฮวย

Chrysanthemum indicum L.

ชื่ออื่น ๆ
เบญจมาศสวน
ไม้ล้มลุก ผิวเปลือกเป็นลายทางตามยาว ใบเรียงสลับค่อนข้างกลมถึงรูปไข่หรือรูปใบหอกช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นออกตามปลายกิ่ง มีใบประดับรูปแถบ ดอกวงนอกกลีบรูปลิ้นสีขาวอมเหลือง ส่วนวงในเป็นหลอดสีเหลือง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

เก๊กฮวยชนิดนี้มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับชนิด C. morifolium ต่างกันตรงแผ่นใบบางกว่ามาก สีเขียวสดและมีขนน้อยมาก ขอบใบเว้าลึกและเป็นจักแหลมกว่า ช่อดอกเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ก้านช่อดอกสั้นกว่าวงใบประดับรูปรีถึงรูปไข่กลับ ขอบกลีบบางและโปร่งแสง กลีบดอกชั้นนอกรูปลิ่ม สีเหลือง ยาวประมาณ ๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

 เก๊กฮวยทั้ง ๒ ชนิดนี้มีถิ่นเดิมในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น มีประโยชน์ในทางสมุนไพรหลายประการ ทั้ง ๒ ชนิดมีสรรพคุณทางยาคล้ายคลึงกันและใช้แทนกันได้โดยดอกรสขมเป็นยาเย็น ใช้เป็นยาระงับประสาท (Perry and Metzger, 1980) ในญี่ปุ่นกินดอกดองในน้ำส้ม ใบและยอดอ่อนต้มหรือทอด และใช้ใบของชนิด C. morifolium ซึ่งน้ำดื่มต่างน้ำชา (Tanaka, 1976) นอกจากนี้ มีรายงานว่าใบของ C. indicum มีสารกันแมลงชนิด Leptinetarsa decemlineata (Say) หรือ Colorado Potata Beetle ดอกมีสรรพคุณต้านเชื้อรา ส่วน C. morifolium มีผลต่อการควบคุมไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne indica Whitehead และ Pratylenchus alleni Ferris (Grainge and Ahmed, 1988)

 การขยายพันธุ์เก๊กฮวยทำได้หลายวิธี แต่ที่ได้ผลดีคือการตัดชำกิ่งยอดและการแยกหน่อ เก๊กฮวยเป็นพืชช่วงวันสั้น เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยซึ่งมีช่วงแสงสั้นกว่า ๑๓ ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ จึงออกดอกเร็ว เป็นอุปสรรคต่อการตัดชำกิ่งจำเป็นต้องมีการเพิ่มแสงติดต่อกันให้นานกว่า ๑๓ ชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้การเจริญเติบโตทางลำต้นสมบูรณ์เต็มที่ก่อน จึงลดช่วงแสงลงเป็นการกระตุ้นให้ออกดอกต่อไป.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เก๊กฮวย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chrysanthemum indicum L.
ชื่อสกุล
Chrysanthemum
คำระบุชนิด
indicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เบญจมาศสวน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา