ไข่เขียว

Parashorea stellata Kurz

ชื่ออื่น ๆ
เคียนส่วย, แคเมาะ, ตะเคียนซวย, ตะเคียนสามพอน, เบ้เขียง, ส่วย (ใต้)
ไม้ต้น โคนมีพอน เปลือกมีช่องอากาศ ใบเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปไข่ มีปีกยาวไล่เลี่ยกัน ๕ ปีก

ไข่เขียวเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๐ ม. ลำต้นตรง เปลือกแตกเป็นร่องตามยาว สีน้ำตาล อมเทา มีช่องอากาศและขนสีเหลืองอ่อนกระจายทั่วไป เปลือกในสีเขียวตองอ่อน โคนต้นมีพอน เนื้อไม้สีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๗-๑๗ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนมนหรือสอบเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมักมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. หูใบรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๕-๑๕ ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวใกล้เคียงกัน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือเหลืองอ่อน รูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. โคนกลีบมีจุดประสีม่วงอ่อน เกสรเพศผู้ ๑๕ อัน ยาวใกล้เคียงกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มีขนแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ปลายแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายผลยังคงมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ มีกลีบเลี้ยงที่ขยายตัวเป็นปีกรูปช้อนหรือรูปใบหอกกลับ ๕ ปีก กว้าง ๑.๕-๑.๘ ซม. ยาว ๙-๑๒ ซม. มีเส้นตามยาวปีก ๕ เส้น

 ไข่เขียวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 เนี้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่เขียว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Parashorea stellata Kurz
ชื่อสกุล
Parashorea
คำระบุชนิด
stellata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz (see also Amann, J.)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
เคียนส่วย, แคเมาะ, ตะเคียนซวย, ตะเคียนสามพอน, เบ้เขียง, ส่วย (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนฤมล บุญแต่ง และ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย