จมูกปลาหลดชนิดนี้เป็นไม้เลื้อย ทุกส่วนมียางใส แตกกิ่งมาก แต่โปร่ง ต้นและกิ่งเรียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. เกลี้ยง แต่อาจมีขนสั้นนุ่มบริเวณข้อ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายแหลมหรือปลายแหลมและมีติ่งแหลมสั้น โคนมนกลมหรือมนกลมแกมรูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบค่อนข้างหนา อวบ และเปราะ ด้านบนเป็นมันเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น โคนเส้นกลางใบมีต่อมเล็ก ๆ ก้านใบเรียว ยาว ๕-๗ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ๒-๘ ครั้ง ออกข้างโคนก้านใบหรือระหว่างก้านใบ ก้านช่อยาว ๐.๕-๒ ซม. แกนช่อยาวไม่เท่ากัน ช่อย่อยคล้ายช่อซี่ร่มดอกมักบานครั้งละ ๒ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๘ มม. ใบประดับเป็นเกล็ดเล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม โคนแฉกด้านในมีต่อมเล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยมระหว่างแฉก ๑ ต่อม กลีบดอกสีชมพูอมม่วงแดง โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แผ่กางออกในแนวระนาบ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๔-๖ มม. แฉกรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มรยางค์เส้าเกสร ๕ อัน สีม่วงแดง สั้นกว่าเกสรเพศผู้ ด้านในเชื่อมติดกับก้านชูอับเรณู ด้านนอกป่องพองเป็นกระพุ้ง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสรเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. อับเรณูมีเยื่อเป็นแผ่นบางที่ปลาย กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรูปค่อนข้างกลม ติดกับก้านกลุ่มเรณูซึ่งใสและสั้นในแนวระนาบปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูสีน้ำตาล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นหนา มีขอบเป็น ๕ เหลี่ยม
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มักออกเป็นคู่กางออกจากกัน รูปทรงกระบอก โคนป่องเล็กน้อยปลายเรียว กว้าง ๕-๙ มม. ยาว ๖-๙ ซม. เมล็ดจำนวนมาก ทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แบนและมีขอบบางกว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๖-๗ มม. ปลายด้านหนึ่งมีติ่งเล็ก ๆ ปลายงอ ๓-๔ ติ่ง ปลายอีกด้านหนึ่งมีขนเป็น พู่สีขาว ยาว ๒-๒.๕ ซม.
จมูกปลาหลดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าโปร่ง ชายป่า ป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.