กระดังงาสงขลา

Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J.Sinclair

ชื่ออื่น ๆ
กระดังงาเบา, กระดังงาสาขา
ไม้ต้นหรือไม้พุ่ม ใบและดอกคล้ายกระดังงา แต่ดอกมีกลีบดอก ๑๕-๒๕ กลีบ กลีบบิดและเป็นคลื่นมาก

 กระดังงาสงขลามีลักษณะต้น ใบ และดอกคล้ายกระดังงา [Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson var. odorata] มาก ต่างกันที่กระดังงาสงขลาเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. ใบสั้นกว่า ยาว ๖-๑๗ ซม. ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม.

 ดอกออกเดี่ยวบนกิ่งด้านตรงข้ามกับก้านใบ ก้านดอกยาว ๔-๖ ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. ปลายแหลม กลีบดอก ๑๕-๒๕ กลีบ บิดและเป็นคลื่นมากกว่ากระดังงา กลีบชั้นนอกยาวและใหญ่กว่ากลีบชั้นในตามลำดับ

 กระดังงาสงขลาเป็นพืชที่พบในประเทศไทยที่บ้านจะโหนง อ.จะนะ จ. สงขลา กระดังงาต้นนี้อาจกลายมาจากต้นที่เรียกว่า กระดังงาไทย (พระยาวินิจวนันดร, ๒๔๙๘) ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์โดยการตอน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดังงาสงขลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J.Sinclair
ชื่อสกุล
Cananga
คำระบุชนิด
odorata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. fruticosa
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib) J.Sinclair
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระดังงาเบา, กระดังงาสาขา
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์