กูดหางนกกะลิง

Colysis hemionitidea C.Presl

เฟิร์นขึ้นบนหิน เหง้าทอดยาว ใบรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนมน ก้านใบเห็นไม่ชัดเนื่องจากโคนก้านใบแผ่เป็นครีบ กลุ่มอับสปอร์กลมหรือรูปขอบขนานสั้น ๆ เรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ ๒ ข้างเส้นกลางใบ

 กูดหางนกกะลิงชนิดนี้มีเหง้าทอดยาวเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๔ มม. มีเกล็ดรูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยมทั่วไปเกล็ดกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เรียวจากโคนไปหาปลาย ขอบหยักซี่ฟัน

 ใบเดี่ยว รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ ซม. ยาว ๓๕-๘๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนและสอบแคบแผ่เป็นครีบติดกับก้านใบ แผ่นใบบาง สีเขียวเข้มเส้นแขนงใบนูนเป็นสันชัดเจน อยู่ห่างกันประมาณ ๘ มม. เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแหเห็นชัดเจน ภายในช่องร่างแหมีเส้นสั้นยื่นเข้าไปข้างใน ก้านใบมองเห็นไม่ชัดเนื่องจากโคนใบแผ่เป็นปีก บางใบมีก้านใบยาวประมาณ ๓ ซม. กลุ่มอับสปอร์กลมหรือรูปขอบขนานสั้น ๆ เรียงเป็นแถวเดียวอย่างมีระเบียบ ๒ ข้างเส้นกลางใบและขนานกับเส้นแขนงใบ

 กูดหางนกกะลิงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นบนก้อนหินตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบเทือกเขาหิมาลัย จีนตอนใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว เวียดนามตอนเหนือ และฟิลิปปินส์

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหางนกกะลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Colysis hemionitidea C.Presl
ชื่อสกุล
Colysis
คำระบุชนิด
hemionitidea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1794-1852)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด