กูดหอมป้อมใบย่อย

Humata repens (L.f.) Diels

ชื่ออื่น ๆ
กูดทอง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), นาคราชตัวเมีย (ตะวันตกเฉียงใต้)
เฟิร์นอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เหง้าทอดยาว ใบรูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนกเกือบ ถึงเส้นกลางใบ ทำให้มีลักษณะเป็นแฉก คู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม แผ่นใบหนา กลุ่มอับสปอร์ ขนาดเล็ก อยู่ที่ขอบใบบริเวณที่หยัก เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์รูปครึ่งวงกลม

 กูดหอมป้อมใบย่อยเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มีเกล็ดหุ้มตลอด สีน้ำตาลกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. โคนและปลายเรียวยาว

 ใบเดี่ยว ขอบหยักลึกแบบขนนก หรือใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ รูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม หรือรูปห้าเหลี่ยมมน กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ ๗ ซม. มีเกล็ดประปราย ตอนล่างสุดของใบหรือใบย่อยคู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม กลุ่มอับสปอร์ขนาดเล็ก อยู่ที่ขอบใบบริเวณที่หยักเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์รูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๑ มม.

 กูดหอมป้อมใบย่อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหินในที่ค่อนข้างร่มหรือกลางแจ้งในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เกาะมาดากัสการ์ หมู่เกาะเซเชลส์ หมู่เกาะมาสคารีน อินเดียตอนใต้ ญี่ปุ่นตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหอมป้อมใบย่อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Humata repens (L.f.) Diels
ชื่อสกุล
Humata
คำระบุชนิด
repens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Diels, Friedrich Ludwig Emil
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1741-1783)
- Diels, Friedrich Ludwig Emil (1874-1945)
ชื่ออื่น ๆ
กูดทอง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), นาคราชตัวเมีย (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด