กูดห้อม

Crypsinus oxylobus (Wall. ex Kunze) Sledge

เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว ใบรูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนกเกือบถึงเส้นกลางใบทำให้มีลักษณะเป็นแฉก ๑-๘ คู่ ที่ปลายใบมี ๑ แฉก ปลายเรียวแหลม แผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์กลม ไม่มีเยื่อคลุมเรียงเป็นแถวขนาบข้างเส้นกลางแฉก

กูดห้อมเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่นทั่วไปปลายสีจางกว่าที่โคน รูปก้นปิด กลม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายเรียวเป็นเส้น ขอบหยักซี่ฟัน

 ใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนกเกือบถึงเส้นกลางใบ ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉกเหลือส่วนใบกว้าง ๐.๕-๑.๗ ซม. แฉกด้านข้างมี ๑-๘ คู่ ที่ปลายใบมี ๑ แฉก เส้นกลางใบด้านบนสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อนด้านล่างสีน้ำตาล แฉกที่โคนใหญ่ที่สุดและค่อย ๆ เรียวเล็กลงเมื่อใกล้ปลายใบ แฉกด้านข้างรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ แฉกที่ปลายยาวกว่า เส้นกลางแฉกนูนเป็นสันทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบที่แยกจากเส้นกลางแฉกเห็นได้ชัดเจน โดยทั่วไปเส้นใบสานเป็นร่างแหที่มีขนาดช่องร่างแหไม่แน่นอน มีเส้นสั้นยื่นเข้าไปในช่องร่างแห แผ่นใบบาง เรียบ ด้านบนสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ไม่มีเกล็ด มีข้อต่อกับเหง้าซึ่งจะหลุดร่วงเมื่อใบแก่เหลือเฉพาะส่วนของเหง้าที่แตกสาขายื่นมาต่อกับก้านใบ กลุ่มอับสปอร์กลมไม่มีเยื่อคลุม เรียงเป็นแถวขนาบข้างเส้นกลางแฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม.

 กูดห้อมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นปนกับมอสส์บนต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหินที่ชื้นในป่าดิบเขา


บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๒,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อินเดียตอนเหนือพม่าตอนเหนือ และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดห้อม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crypsinus oxylobus (Wall. ex Kunze) Sledge
ชื่อสกุล
Crypsinus
คำระบุชนิด
oxylobus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Kunze, Gustav
- Sledge, William Arthur
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Kunze, Gustav (1793-1851)
- Sledge, William Arthur (1904-1991)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด