กูดห้วย

Thelypteris menisciicarpa (Blume) K.Iwats.

เฟิร์นขึ้นบนดินหรือบนหินที่มีดิน เหง้าสั้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ ๕ คู่ รูปขอบขนานแคบปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบกว้างถึงเกือบตัด ขอบเรียบแผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์กลม มีขน เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาล มีขน

กูดห้วยเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น อยู่ใต้ดิน มีเกล็ดบาง สีน้ำตาล รูปขอบขนาน ปลายมีหางยาว กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ รูปขอบขนาน ก้านใบเรียงชิดกัน มีขน โคนมีเกล็ด ใบย่อยไม่มีก้าน มีประมาณ ๕ คู่ รูปขอบขนานแคบ ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบกว้างถึงเกือบตัดหรือเป็นรูปติ่งหู ขอบค่อนข้างเรียบ แผ่นใบบาง ด้านล่างขรุขระเส้นร่างแหเห็นไม่ชัด

 ใบไม่สร้างอับสปอร์กว้างประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๓๕ ซม. ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. ใบย่อยกว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๑๐-๑๓ ซม. ใบสร้างอับสปอร์แคบกว่า กว้างประมาณ ๑๕ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ก้านใบยาวประมาณ ๓๕ ซม. ใบย่อยกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๖ ซม. กลุ่มอับสปอร์กลม มีขน อยู่รวมกันเป็นรูปจันทร์เสี้ยวเมื่อเจริญเต็มที่ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์สีน้ำตาล มีขน

 กูดห้วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามก้อนหินที่มีดินโคลน ริมลำธารในป่าดิบ บนพื้นที่ระดับต่ำ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดห้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thelypteris menisciicarpa (Blume) K.Iwats.
ชื่อสกุล
Thelypteris
คำระบุชนิด
menisciicarpa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Iwatsuki, Kunio
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Iwatsuki, Kunio (1934- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด