กูดหมาก ๒

Pyrrosia mollis (Kunze) Ching

เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดสั้น ใบเรียงชิดกัน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลมถึงเรียวแหลม แผ่นใบหนา มีขนรูปดาว กลุ่มอับสปอร์กลม กระจายทั่วไปบนแผ่นใบด้านล่างจากส่วนกลางใบถึงปลายใบ

กูดหมากชนิดนี้เป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีเกล็ดหนาแน่นทั่วไป เป็นแผ่นบางรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายเรียวเป็นเส้น ตอนกลางสีน้ำตาลเข้มถึงน้ำตาลดำขอบสีน้ำตาลอ่อน มีขนที่ขอบ

 ใบเดี่ยว เรียงชิดกัน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๗-๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบเรียว แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียว มีขนรูปดาวประปรายหรือไม่มีขน มีรูหยาดน้ำกระจัดกระจายทั่วไปเห็นได้


ชัดเจน ด้านล่างมีขนรูปดาวหนาแน่น ขนรูปดาวมีทั้งชนิดที่ขนอ่อนนุ่มและขนเส้นยาวแข็งสีน้ำตาล เส้นกลางใบนูนเป็นสันเฉพาะทางด้านล่าง เส้นร่างแหมองเห็นได้ยาก ก้านใบเห็นไม่ชัดเนื่องจากโคนใบแผ่เป็นปีกถึงโคนก้านใบ กลุ่มอับสปอร์ กระจายทั่วไปบนแผ่นใบด้านล่าง จากส่วนกลางแผ่นใบถึงปลายใบและมีขนรูปดาว

 กูดหมากชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นปนกับมอสส์บนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ศรีลังกา พม่าตอนเหนือและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหมาก ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pyrrosia mollis (Kunze) Ching
ชื่อสกุล
Pyrrosia
คำระบุชนิด
mollis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kunze, Gustav
- Ching, Ren Chang
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kunze, Gustav (1793-1851)
- Ching, Ren Chang (1898-1986)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด