จตุบาทเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูง ๑๐-๓๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม.
ใบเดี่ยว มี ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่กางออกอยู่ในระนาบเดียวกันที่ปลายลำต้น คลุมลงมาเกือบถึงผิวดิน รูปไข่กว้าง รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่ ไม่สมมาตร กว้าง ๖-๑๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบหรือเบี้ยว ขอบหยักมนหรือหยักซี่ฟัน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ยับย่น มีขนสีน้ำตาลประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๑๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายยอด มีได้ถึง ๖ ช่อ อยู่ชิดกัน ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มีขนยาวสีน้ำตาลประปราย ดอกดกและอยู่ชิดแน่น ก้านดอกยาว ๑-๑.๗ ซม. ใบประดับรูปรีแกมรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก สีเขียวหรือสีเขียวอมชมพู เรียงแน่นใกล้โคนช่อกลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียว ขอบสีชมพู เกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยหรือเกือบแยกจากกันเป็น ๓ แฉก กว้างและยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. คุ่ม แต่ละแฉกพับกลางแฉกตามแนวยาวดูคล้ายเป็นครีบและมีสันทางด้านนอก แฉกกลางรูปใบหอก ปลายแยกเป็นแฉกตื้นอีก ๓ แฉก ปลายแฉกมน แฉกคู่ข้างอยู่ต่ำกว่า รูปไข่ ปลายมนหรือแหลมกลีบดอกสีชมพู โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆังเบี้ยว ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปครึ่งวงกลมรูปหัวใจ หรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๘-๙ มม.ปลายมน กลางแฉกเป็นร่องตามแนวยาว ด้านนอกมีขนสีขาวประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูรูปแถบ กว้าง ประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. สีขาว บิดงอตรงกลาง มีขนต่อมประปราย อับเรณูสีขาวหรือสีขาวนวลอมน้ำตาล รูปหัวใจ กว้างและยาวประมาณ ๒.๕ มม.เป็นพูลึก มีขนต่อมค่อนข้างหนาแน่น ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร ไม่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๓ มม.ด้านนอกมีขนต่อมประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๗ มม. สีขาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม สีเขียว
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๔ ซม. ปลายแหลมสีน้ำตาลอ่อน เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มโคนผล เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
จตุบาทเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม.