กระดังงาป่าเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๐ ม. ลำต้นเปลาเปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา เรือนยอดเป็นพุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๑๘-๓๕ ซม. ปลายแหลม โคนมนขอบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นมันทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เป็นสันนูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๒๐ เส้น ปลายโค้ง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบเป็นร่อง โคนก้านบวม มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเหนือรอยแผลใบตามกิ่งและลำต้น ช่อห้อยลง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๔-๖ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ติดอยู่ตรงกลางหรือค่อนไปทางโคนก้านดอก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. เรียงเป็นรูปถ้วย กลีบดอก ๖ กลีบ รูปขอบขนาน เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกกว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๔-๖ ชม. ชั้นในกว้าง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รูปขอบขนาน อับเรณูรูปทรงกระบอก แตกด้านข้าง เกสรเพศเมียหลายอัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนสีเหลือง มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียบ้าน
ผลเป็นผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว ๔-๖ ซม. ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรี กว้าง ๒.๒-๒.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. สุกสีแดง โคนผลคอดเรียวเป็นก้าน ยาว ๑.๘-๓.๕ ซม. มีเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๒-๑.๘ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. มีร่องตามยาว
กระดังงาป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าพรุ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๙๕๐ ม. ออกดอก เดือนธันวาคมถึงกรกฎาคม ผลแก่หลังจากดอกบาน ๖-๗ เดือน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
เนื้อไม้เหนียวมาก ใช้ในการก่อสร้างและทำอุปกรณ์การเกษตร ผลสุกเป็นอาหารของสัตว์ป่า