กูดหมาก ๑

Pteris vittata L.

ชื่ออื่น ๆ
กระจิงดูแพะ (กะเหรี่ยง), กูดตาด (เชียงใหม่)
เฟิร์นขึ้นบนดินหรือบนหิน เหง้าสั้น ตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยรูปขอบขนาน ไม่มีก้านใบ เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ กลุ่มอับสปอร์อยู่ต่อเนื่องตามขอบใบย่อย เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บางและสีซีด

กูดหมากชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรง มีเกล็ด เกล็ดอ่อนสีเขียวซีด เกล็ดแก่สีน้ำตาล ยาวประมาณ ๕ มม.

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเป็นกระจุก รูปใบหอกกลับ ส่วนกว้างที่สุดอยู่ใกล้ปลายใบ แกนกลางมีร่องตามยาวทางด้านบน และมีเกล็ดเล็ก ๆ ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาว ๒๐-๕๐ ซม. โคนมีเกล็ดหนาแน่น

 ใบย่อยรูปขอบขนาน โดยเฉพาะคู่กลาง ๆ กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ใบย่อยที่ปลายใหญ่กว่า
ใบย่อยอื่น ๆ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ใบย่อยคู่ล่าง ๆ ตรงโคนใบจักลึกเป็นแฉกหรือเป็นติ่งแฉกหรือติ่งทางด้านใกล้โคนยาวกว่าด้านตรงข้าม ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งยาว ขอบจักฟันเลื่อย เส้นใบแยกสาขา เป็นคู่ ยกเว้นบริเวณที่ต่อกับกลุ่มอับสปอร์ ไม่มีก้านใบย่อยกลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบย่อย เว้นบริเวณใกล้ปลายใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บางและสีซีด

 กูดหมากชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนดินปนทราย ตามหินที่มีดินโคลน ตามซอกหินหรือกำแพงเก่า ๆ บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่นตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหมาก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteris vittata L.
ชื่อสกุล
Pteris
คำระบุชนิด
vittata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระจิงดูแพะ (กะเหรี่ยง), กูดตาด (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด