กูดหมักเป็นเฟิร์น เหง้าทอดไปตามดิน ซอกหิน หรืออิงอาศัย แตกแขนง มีขนนุ่มสีเหลืองทองค่อนข้างแน่น เกล็ดเป็น แผ่นบาง สีน้ำตาลอ่อน รูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม.ขอบเรียบ
ใบประกอบแบบขนนกสามถึงสี่ชั้น เรียงตัวห่าง ๆ กัน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม ก้านใบยาว ๑๕-๓๐ ซม. ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาล โคนมีเกล็ด ตอนบนมีขนประปราย
กลุ่มใบย่อยมีมากกว่า ๑๐ คู่ คู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด และแฉกลึกแบบขนนกสองถึงสามชั้น รูปขอบขนานปลายแหลมกว้างและยาวประมาณ ๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบและแฉกลึกแบบขนนกสองถึงสามชั้น แฉกล่างสุดรูปขอบขนานถึงรูปสามเหลี่ยม มีก้านใบ นอกนั้นรูปขอบขนาน ขอบหยัก ๑-๖ แฉก แฉกปลายสุดรูปกลมถึงรูปขอบขนาน หรือรูปช้อนขอบหยักซี่ฟันหยาบ ๆ แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน กลุ่มอับสปอร์กลม อยู่ที่ปลายของเส้นใบที่แยกสาขาของแต่ละแฉกเพียงเส้นเดียว เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์กลม ติดอยู่ที่ฐานของกลุ่มอับสปอร์สีขาวถึงน้ำตาล กว้าง ๑-๒ มม. ขอบเรียบ
กูดหมักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ขึ้นตามไหล่เขา ตามซอกหิน หรือบริเวณที่ค่อนข้างร่มในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้และเทือกเขาหิมาลัย จีน ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.