กูดสร้อย

Nephrolepis cordifolia (L.) C.Presl

ชื่ออื่น ๆ
เฟิร์นก้างปลา
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าสั้น ตั้งตรง มีรากแข็งจำนวนมากและมีไหลแตกสาขาจากซอกใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่มีใบย่อยได้ถึง ๑๐๐ คู่ คู่กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ใบย่อยรูปเคียว กลุ่มอับสปอร์รูปไต เรียงเป็นแถวใกล้ขอบใบ เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง

กูดสร้อยเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรงหรือเกือบตรง มีรากแข็งจำนวนมาก และมีไหลแตกสาขาจากซอกใบ เหง้ามีเกล็ดบาง ๆ สีน้ำตาลอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายเรียวแหลมและมีหางยาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกรวมกันเป็นกระจุกรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวได้ถึง ๘๐ ซม. ปลายแหลม ก้านใบกลม สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม ยาวประมาณ ๑ ซม. มีเกล็ดรูปแถบ

 ใบย่อยมีได้ถึง ๑๐๐ คู่ คู่กลาง ๆ ใหญ่ที่สุด กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างแหลม โคนเบี้ยว ไม่มีก้านใบ ขอบจักฟันเลื่อยตื้น ๆ แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ เห็นชัดทางด้านล่าง กลุ่มอันสปอร์รูปไต เรียงเป็นแถวใกล้ขอบใบทั้ง ๒ ข้าง เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๒ มม.

 กูดสร้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นตามไหล่เขา ตามก้อนหิน หรือตามต้นไม้ ในบริเวณที่ได้รับแสงสว่างปานกลาง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตศูนย์สูตรและออสเตรเลีย

 นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดสร้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephrolepis cordifolia (L.) C.Presl
ชื่อสกุล
Nephrolepis
คำระบุชนิด
cordifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Presl, Carl (Karl, Carel, Carolus) Borivoj (Boriwog, Boriwag) (1794-1852)
ชื่ออื่น ๆ
เฟิร์นก้างปลา
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด