กูดลองเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว แตกแขนง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีเกล็ดเป็นแผ่นบางหุ้ม
สีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล ตอนกลางสีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๕ มม. โคนแคบ ปลายเรียวเป็นเส้น
ใบประกอบแบบขนนกสามถึงสี่ชั้น รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ก้านใบสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล อยู่บนเหง้าที่ตั้งขึ้นมีเกล็ดที่โคน
กลุ่มใบย่อยมีประมาณ ๑๐ คู่ เรียงสลับ รูปขอบขนานเรียวแหลมไปหาปลายใบ กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. มีก้านเป็นครีบ กลุ่มใบย่อยชั้นที่ ๒ รูปกึ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ มีก้านสั้น เส้นใบแยกเป็นคู่ กลุ่มใบย่อยชั้นที่ ๓ ขอบเรียบหรือหยัก ปลายแหลม แผ่นใบบาง สีเขียวเข้ม ผิวเรียบกลุ่มอับสปอร์กลม อยู่บนเส้นใบของใบย่อยชั้นที่ ๓ ใบละ ๑ กลุ่ม ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
กูดลองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ เกาะต้นไม้ใหญ่ปุ่นกับมอสส์ หรือขึ้นบนหินในป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและอินเดียตอนเหนือ.