กูดยังเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาวแตกแขนง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีเกล็ดบางสีน้ำตาล รูปขอบขนาน โคนและปลายมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น
ใบประกอบแบบขนนกสามถึงสี่ชั้น รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานปลายแหลม ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ ๒๐ ซม. อยู่บนส่วนของเหง้าที่ตั้งขึ้นประมาณ ๑ ซม. มีเกล็ดประปรายที่โคน
กลุ่มใบย่อยมีประมาณ ๑๐ คู่ คู่ล่างใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานปลายแหลม กว้างประมาณ ๘ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. กลุ่มใบย่อยชั้นที่ ๒ รูปขอบขนานปลายมนถึงแหลม โคนสอบ มีก้าน กลุ่มใบย่อยชั้นที่ ๓ ไม่มีก้านใบ โคนสอบ แฉกปลายใหญ่ ขอบหยักมนถึงค่อนข้างแหลม แฉกอื่น ๆ เล็กมากปลายแหลม แผ่นใบสีเขียวอมเหลืองถึงเขียวอ่อน บาง เรียบเส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ กลุ่มอับสปอร์กลม อยู่บนเส้นใบใกล้ขอบใบย่อย เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เล็ก เป็นแผ่นบาง
กูดยูงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ เกาะต้นไม้ใหญ่ปนกับมอสส์หรือขึ้นบนหินในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๙๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เนปาลจีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.