กูดย่อยเป็นเฟิร์น เหง้าใหญ่ ตั้งตรงคล้ายลำต้น มีเกล็ดแคบ สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ขอบหยักซี่ฟันสีดำ
ใบประกอบแบบขนนกสองหรือสามชั้น กว้างประมาณ ๗๐ ซม. ยาวได้มากกว่า ๑ ม. ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ม. ตอนโคนพอง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีเกล็ดหนาแน่นผิวมีหนามเกิดจากเกล็ดร่วงไป
ใบย่อยชั้นที่ ๑ คู่ล่างกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ปลายแหลม ใบย่อยชั้นที่ ๒ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ก้านใบสั้นหรือไม่มีขอบหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ แต่ละหยักรูปขอบขนานถึงรูปกึ่งสี่เหลี่ยมเฉียง ปลายมน ขอบจักฟันเลื่อย กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบ ๕-๙ คู่ มักแยกเป็น ๒ ง่าม ใบหยักขนาดใหญ่ อับสปอร์มักอยู่ตามเส้นใบใกล้เส้นกลางหยัก ยาวไม่ถึง ๒ มม. เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง ติดอยู่กับกลุ่มอับสปอร์ตลอดไป
กูดย่อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามไหล่เขาบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์และตามชายป่าที่มีความชื้นสูง บนพื้นที่ระดับต่ำถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ไต้หวัน อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.