กูดพร้าว

Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.

ชื่ออื่น ๆ
กลาคีรี (มลายู-นราธิวาส), กูดต้น (เหนือ), มหาสดำ (ตะวันออกเฉียงใต้)
เฟิร์นต้น ขึ้นบนดินตามไหล่เขา ลำต้นตั้ง สูง ๓-๕ ม. มีรอยที่ก้านใบหลุดจากต้น รากอากาศเป็นเส้นแข็งสีดำแทรกทั่วไปบนต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น กลุ่มใบย่อยคู่ล่างลดขนาดลง กลุ่มใบย่อยถัดขึ้นมารูปขอบขนาน มีใบย่อยมากกว่า ๒๕ คู่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายเรียวยาวขอบหยักเว้าลึกเป็นพูเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย ปลายพูมนขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์กลมอยู่บนเส้นใบ ๒ ช้างเส้นกลางใบย่อย เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นเกล็ดเล็ก

กูดพร้าวเป็นเฟิร์นต้น ลำต้นตั้งตรง สูง ๓-๕ ม. มีเกล็ดปกคลุม และมีรอยก้านใบที่หลุดร่วงไป รากอากาศเป็นเส้นแข็งสีดำ

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกรวมเป็นกลุ่มบริเวณใกล้ยอด แกนกลางไม่เรียบ มีตุ่มขรุขระทางด้านล่าง ด้านบนมีขนและเกล็ดประปราย ก้านใบสีน้ำตาลปนเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม ยาวประมาณ ๔๐ ซม. มีหนามสั้น ๆ ที่โคนมีเกล็ดสีน้ำตาลเป็นมัน รูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ด้านบนมีขน

 กลุ่มใบย่อยคู่ล่างลดขนาดลง ยาวประมาณ ๑๐ ซม. รูปร่างไม่แน่นอน กลุ่มใบย่อยถัดขึ้นมารูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑๔ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลมและมีติ่งยาว แกนกลุ่มใบย่อยมีเกล็ดแบนสีน้ำตาลทางด้านล่าง

 มีใบย่อยมากกว่า ๒๕ คู่ เรียงห่างกันประมาณ ๑.๖ ซม. รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๗ ซม. ปลายเรียวยาว โคนกึ่งตัด ขอบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย หยักเฉียง รูปเคียว กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย เส้นกลางใบย่อยมีขนทางด้านบน ด้านล่างมีเกล็ดแบนสีน้ำตาล แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนเส้นใบแยกสาขาเป็นคู่ ๗-๘ คู่ ไม่มีก้านใบย่อย กลุ่มอับสปอร์รูปค่อนข้างกลม อยู่บนเส้นใบ ๒ ข้างเส้นกลางใบย่อยเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นเกล็ดเล็ก อยู่ที่ฐานของกลุ่มอับสปอร์

 กูดพร้าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นบนดินตามไหล่เขา


ในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ลำต้นและรากใช้เป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดพร้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel.
ชื่อสกุล
Cyathea
คำระบุชนิด
latebrosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Hooker, William Jackson
- Copeland, Edwin Bingham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Hooker, William Jackson (1785-1865)
- Copeland, Edwin Bingham (1873-1964)
ชื่ออื่น ๆ
กลาคีรี (มลายู-นราธิวาส), กูดต้น (เหนือ), มหาสดำ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด