ตะเคียนชันตาหนูเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. มีรากค้ำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก เปลือกในมีชันสีขาวขุ่น กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๔.๕-๘.๕ ซม. ปลายแหลมยาวคล้ายหาง ยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบแบบกึ่งเส้นใบแซม เส้นใบหลักข้างละ ๘-๑๓ เส้น บางครั้งพบตุ่มใบเป็นขนตามซอกใบช่วงล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหกึ่งขั้นบันได ก้านใบยาว ๓-๕ มม. มีขนประปรายหรือเกลี้ยง หูใบขนาดเล็ก รูปไข่ มีขนสั้นนุ่ม
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและใกล้ปลายกิ่ง ตั้งขึ้นหรือห้อยลงเล็กน้อย ช่อดอกยาว ๒-๓.๕ ซม. เกลี้ยง มี ๓-๕ ดอก เรียงด้านเดียวห่าง ๆ มีกลิ่นหอมอ่อน ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกตูมทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. มีเกล็ดรูปร่มประปราย ดอกสีแดงเข้ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน รูปกลม กว้างและยาว ๑-๑.๒ มม. เรียงซ้อนเหลื่อมเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบกว้างและยาวกว่ากลีบวงใน ปลายแหลม กลีบวงใน ๓ กลีบ ปลายมนกลม ด้านนอกมีขนปุ่มกระจายทั่วไป กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกกลับแกมรูปเคียว กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียงเป็น ๒ วง เกสรวงในยาวกว่าเกสรวงนอกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูแผ่ขยายช่วงโคน ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์ ยาว ๒-๒.๕ เท่าของอับเรณู อับเรณูรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๒ มม. ติดที่ฐาน แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องส่วนมากมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว คอดกลางรูปคล้ายนาฬิกาทราย ยาวประมาณ ๐.๘ มม. ช่วงปลายมีขนละเอียดประปราย ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลเปลือกแข็ง รูปทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๖ มม. ปลายมีติ่งขนาดเล็ก ปลายตัด ก้านผลยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยงติดทน ไม่ขยายเป็นปีก รูปไข่กว้าง กว้าง ๓-๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายเรียว ยาวประมาณ ๒ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตะเคียนชันตาหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียและบอร์เนียว
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.